การเลือกขนาดแอร์ให้เหมาะสม ตรงกับการกิจกรรมการใช้งานและขนาดห้องเป็นเรื่องสำคัญ ส่งผลโดยตรงต่อค่าไฟที่ต้องจ่ายในแต่ละเดือน ถ้าเลือกขนาด BTU. เหมาะสมก็จะประหยัดค่าไฟได้มาก

 

การเลือกขนาด BTU ให้เหมาะสมกับขนาดห้อง มีปัจจัยที่จะต้องพิจารณาประกอบเพิ่มเติม ได้แก่

1. จำนวนคนที่อยู่ในห้อง
2. ใช้ห้องในเวลากลางวันหรือกลางคืน (รวมทั้งห้องอยู่ในทิศที่รับแสงแดดโดยตรงหรือไม่)
3. กิจกรรมที่ทำในห้องคืออะไร เช่น ออกกำลังกาย/ฟิตเนส, ทานข้าว/ห้องอาหาร, ห้องประชุม ฯลฯ
4. เป็นห้องใต้หลังคาบ้าน/ชั้นดาดฟ้าอาคารที่ต้องรับแดดตอนกลางวันไหม (รวมทั้งมีฉนวนหรือหลังคากันความร้อนไหม)

ปัจจัยเหล่านี้ล้วนต้องนำมาพิจารณาเผื่อในการเลือกแอร์ที่มีขนาดบีทียูที่เหมาะสมด้วย

 

บางคนอาจจะคิดแค่ว่าห้องขนาดเล็ก (4x4 ตร.ม.) เอาแค่ 9000 BTU. ก็พอ โดยไม่สนว่ากิจกรรมที่เกิดขึ้นในห้องนั้นเป็นอย่างไร ยกตัวอย่างเช่น เมื่อใช้แอร์ในร้านอาหารขนาดเล็ก ความเย็นระดับ 9000 BTU. ก็จะไม่เพียงพอเป็นอย่างยิ่ง ทำให้เปลืองไฟ และเสียค่าไฟแพงเกินไป เพราะคอมแอร์ไม่ค่อยตัดรอบการทำงานเมื่อห้องมีอุณหภูมิสูงขึ้น คอมแอร์จึงต้องเดินใหม่เพื่อคงอุณหภูมิห้องให้เย็นตามรีโมทที่ตั้งไว้

 

หรือบางคนอาจจะชอบติดแอร์ที่มีค่า BTU. มากเกินขนาดห้องและการใช้งานไปมาก ด้วยความมโนไปเองว่าจะได้แอร์เย็นฉ่ำๆ สะใจ อันนี้อาจจะได้จ่ายค่าไฟที่โอเวอร์ไปเช่นกัน เพราะยิ่งขนาดบีทียูสูงขึ้น มันก็กินไฟกินกระแสมากขึ้นตามขนาดบีทียูที่เพิ่มขึ้นโดยไม่จำเป็น

 

คราวนี้เรามาดูวิธีการคำนวณขนาด BTU. จะใช้ขนาดห้องในหน่วยตารางเมตร มาคูณกับตัวคูณที่กำหนด ซึ่งขึ้นอยู่กิจกรรมและการใช้งานส่วนใหญ่ ดังนี้


ยกตัวอย่างห้องขนาด 4x4 ตร.ม.


ตัวคูณที่นิยมใช้มีตั้งแต่

x800 สำหรับห้องนอน (ไม่โดนแดด)

BTU. ที่ได้จะเท่ากับ 4x4x800 = 12,800 BTU.

 

x900 สำหรับห้องนอน (โดนแดด) / ห้องนั่งเล่น / ห้องรับประทานอาหารภายในบ้าน

BTU. ที่ได้จะเท่ากับ 4x4x900 = 14,400 BTU.

 

x1100 สำหรับร้านค้าทั่วไป (ไม่โดนแดด) / ห้องทำงานในออฟฟิศ (ไม่โดนแดด+มีพนักงานหลายคน)

BTU. ที่ได้จะเท่ากับ 4x4x1,000 = 16,000 BTU.

 

x1200 สำหรับร้านค้าทั่วไป (ที่โดนแดด) / ห้องทำงานในออฟฟิศ (โดนแดด+มีพนักงานหลายคน) / ร้านทำผม / ร้านอาหาร

BTU. ที่ได้จะเท่ากับ 4x4x1,200 = 19,200 BTU.

 

x1400 สำหรับร้านอาหารที่มีการปรุงในห้องแอร์ เช่น ร้านสุกี้, ร้านปิ้งย่าง

BTU. ที่ได้จะเท่ากับ 4x4x1,400 = 22,400 BTU.

 

ตัวคูณเหล่านี้เป็นตัวเลขที่สามารถนำมาใช้ประมาณการในการเลือกขนาดแอร์ที่เหมาะสมกับพื้นที่ได้ แต่ยังมีสิ่งที่ต้องพิจารณาเพิ่มเติมนอกเหนือจากนั้นก็คือเรื่องจำนวนคนและกิจกรรมที่ทำในพื้นที่ว่ามีความร้อนที่เกิดขึ้นจากคนและกิจกรรมมากน้อยแค่ไหน เช่น ในร้านอาหารที่มีการปิ้งย่าง เราอาจต้องประเมินจำนวนลูกค้าที่เป็นไปได้หรือจำนวนลูกค้าที่มากสุดที่ร้านรองรับได้ที่เข้ามากินปิ้งย่างพร้อมกันในเวลาเดียวกัน และความร้อนจากการปิ้งย่างมีมากขนาดไหน เพื่อให้แอร์ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพให้ความเย็นทั่วถึงแม้ในเวลาที่ต้องทำงานหนัก ดังนั้นตัวคูณ 1400 อาจไม่ใช่คำตอบสุดท้ายที่ใช้ในการคำนวณหาขนาดบีทียูแอร์สำหรับร้านอาหารปิ้งย่างก็เป็นได้

 

แค่นี้เราก็พอจะได้ขนาด BTU. สำหรับนำไปเลือกซื้อแอร์ได้อย่างเหมาะสมแล้วนะครับ แต่สิ่งสุดท้ายที่อยากฝากเพิ่มเติมก็คือ การหาขนาดบีทียูแอร์ที่เหมาะสมเป็นเรื่องสำคัญมากนะครับ ทั้งในแง่ประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องปรับอากาศเองในการทำความเย็นให้ทั่วถึงครอบคลุมทุกพื้นที่ห้อง และค่าไฟฟ้าที่เกิดขึ้นตามมา ถ้าเราเลือกที่จะใช้ตัวคูณน้อยกว่าที่ควรจะเป็นเพราะคิดว่าอยากเซฟตังค่าเครื่อง ขอประหยัดค่าเครื่องค่าติดตั้งในตอนแรกไปก่อนแล้ว สมมติว่าเมื่อเวลาผ่านไปนาน 10 ปี มีส่วนต่างค่าไฟที่เรียกเก็บในแต่ละเดือนที่แพงขึ้นจากการใช้แอร์ที่มี BTU.ต่ำกว่าความเหมาะสมอยู่ 100 บาททุกเดือน คุณลองคิดเล่นๆ ดูว่าผ่านมา 10 ปี เราต้องเสียส่วนต่างที่แพงขึ้นเท่าไหร่


ส่วนต่าง = 100(บ.)x12(ด.)x10(ปี) = 12,000 บาท


ส่วนต่างตามตัวอย่างที่ยกมานี้เป็นเพียงแค่ตัวเลขสมมติขึ้นมาก็จริง แต่ถ้าคุณใช้งานแอร์หลายๆ เครื่องและใช้งานหนักทุกวันตลอดทั้งปี ลองจินตนาการดูสิครับว่าส่วนต่างที่ต้องจ่ายแพงเพราะความประหยัดค่าเครื่องเลือกซื้อแอร์บีทียูต่ำกว่าที่ควรจะเป็นมาใช้ คุณต้องจ่ายมันเท่าไหร่?

 


 

ค้นหา > อะไหล่แอร์ >> http://www.twc-aircenter.com/electronic.html

ครบ ถูก ประหยัด ต้องที่ twc-aircenter.com